เข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจ ของ ฮฺว่า กั๋วเฟิง

ฮฺว่า กั๋วเฟิง เข้าร่วมการทำนาในตำบลตงถวนตู้ ในเขตชานเมืองฉางชา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2513

ในปี พ.ศ. 2514 ฮฺว่าถูกเรียกตัวเข้ากรุงปักกิ่งเพื่อมาควบคุมสำนักงานเจ้าหน้าที่คณะมนตรีรัฐกิจของโจว เอินไหล แต่อยู่ได้ไม่กี่เดือนก่อนจะกลับไปดำรงตำแหน่งเดิมที่มณฑลหูหนาน[3] ต่อมาในปีเดียวกัน เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมาธิการสืบสวนคดีของจอมพลหลิน เปียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความไว้วางใจอันแรงกล้าที่เหมามีต่อตัวเขา ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ฮฺว่าก็ได้รับเลือกอีกครั้งให้เป็นสมาชิกเต็มตัวของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 10 และเลื่อนขั้นเป็นสมาชิกกรมการเมือง ในปีเดียวกันนั้น โจว เอินไหลได้มอบหมายเขาให้ดูแลด้านการพัฒนาการเกษตร

ในปี พ.ศ. 2516 เหมาได้แต่งตั้งฮฺว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ และรองนายกรัฐมนตรี สิ่งนี้ทำให้เขาสามารถควบคุมตำรวจและกองกำลังรักษาความปลอดภัยได้ อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของฮฺว่าได้รับการยืนยันจากการที่เขาได้รับเลือกให้กล่าวสุนทรพจน์เรื่องการปรับปรุงการเกษตรให้ทันสมัยในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน[5]

โจว เอินไหล ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พันธมิตรนักปฏิรูปของเติ้ง เสี่ยวผิง ยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะยืนหยัดต่อสู้กับทั้งเหมา เจ๋อตงที่กำลังป่วย และแก๊งสี่คน (เจียง ชิง, จาง ชุนเฉียว, หวัง หงเหวิน, และเหยา เหวินหยวน) หนึ่งสัปดาห์หลังจากอ่านคำกล่าวสรรเสริญของนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ เติ้งก็ออกจากปักกิ่งพร้อมกับพันธมิตรใกล้ชิดหลายคนเพื่อความปลอดภัยไปยังกว่างโจว[6]

มีรายงานว่า เหมา เจ๋อตงต้องการจะแต่งตั้งจาง ชุนเฉียวเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของโจว เอินไหล แต่สุดท้ายเขาก็แต่งตั้งฮฺว่าเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีแทน โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาประชาชนแห่งชาติ[7] ในเวลาเดียวกัน สื่อที่ถูกแก๊งสี่คนควบคุมก็ได้เริ่มประณามเติ้งอีกครั้ง (ซึ่งเคยถูกกำจัดในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และกลับสู่อำนาจอีกครั้งในปี พ.ศ. 2516)

อย่างไรก็ตาม ความรักที่ประชาชนมีต่อโจว เอินไหลถูกประเมินต่ำเกินไป อันนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์กรณีเทียนอันเหมิน ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างทหารกับพลเมืองปักกิ่งที่ต้องการไว้อาลัยให้กับโจวในเทศกาลเช็งเม้งตามประเพณี ในเวลาเดียวกัน ฮฺว่าได้กล่าวสุนทรพจน์ "แถลงการณ์อย่างเป็นทางการสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์เติ้ง เสี่ยวผิง" ซึ่งได้รับการอนุมัติจากเหมาและคณะกรรมาธิการกลางพรรค

ในช่วงเหตุการณ์กรณีเทียนอันเหมินในปี พ.ศ. 2519 ผู้คนหลายพันคนประท้วงการถอนพวงหรีดของทหารเพื่อเป็นเกียรติแก่โจวที่หน้าอนุสาวรีย์วีรชน ยานพาหนะถูกเผา สำนักงานถูกรื้อค้น และมีรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก[8] ผลที่ตามมาคือ เติ้ง เสี่ยวผิงถูกกล่าวหาว่ายุยงให้เกิดการประท้วง และถูกถอดตำแหน่งในพรรคและรัฐบาลทั้งหมด แต่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคอยู่ตามคำสั่งของเหมา หลังจากนั้นไม่นาน ฮฺว่าก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองประธานลำดับที่หนึ่งของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและนายกรัฐมนตรี

หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวในถังชาน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2519 ฮฺว่าได้ไปเยือนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและได้ช่วยชี้แนะแนวทางการบรรเทาทุกข์

แหล่งที่มา

WikiPedia: ฮฺว่า กั๋วเฟิง https://web.archive.org/web/20140910201442/http://... https://www.marxists.org/reference/archive/hua-guo... https://books.google.com/books?id=Fm5BAgAAQBAJ&pg=... http://www.dailytimes.com.pk/default.asp?page=stor... http://cul.sohu.com/20080505/n256668060.shtml https://web.archive.org/web/20200607205701/http://... http://politics.people.com.cn/GB/99014/8080963.htm... https://www.nytimes.com/2008/08/21/world/asia/21hu... http://www.ibiblio.org/chinesehistory/contents/01h... http://culture.dwnews.com/history/news/2016-11-03/...